จักรพรรดิเมจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิเมจิ
พระบรมฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ในปี เมจิที่ 6 (ค.ศ. 1873)
จักรพรรดิญี่ปุ่น
ครองราชย์3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 - 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912
(43 ปี 292 วัน)
พิธีขึ้น12 ตุลาคม ค.ศ. 1868
พระราชวังหลวงเกียวโต
ก่อนหน้าจักรพรรดิโคเม
ถัดไปจักรพรรดิไทโช
พระราชสมภพ3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852
เกียวโต, ญี่ปุ่น
มุตสึฮิโตะ (睦仁)
พระราชทานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852
สวรรคต30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (59 พรรษา)
โตเกียว, จักรวรรดิญี่ปุ่น
ฝังพระศพ13 กันยายน ค.ศ. 1912
สุสานหลวงฟุชิมิโมะโมะยะมะ
จักรพรรดินีฮารูโกะ อิชิโจ
อภิเษกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 1869
พระราชบุตรสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ
เจ้าหญิงมาซาโกะ ทาเคดะ
เจ้าหญิงฟูซาโกะ คิตาชิรากาวะ
เจ้าหญิงโนบูโกะ อาซากะ
เจ้าหญิงโทชิโกะ ฮิงาชิกูนิ
รัชศก
เคโอ (Keiō , 1867 – 1868)
เมจิ (Meiji ,1868 - 1912)
พระนามหลังสวรรคต
จักรพรรดิเมจิ (明治天皇)
ถวายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1912
ราชวงศ์ราชวงศ์ญี่ปุ่น
พระราชบิดาจักรพรรดิโคเม
พระราชมารดาพระสนมโยชิโกะ
ลายพระอภิไธย
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ

สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือพระนามหลังสวรรคตคือ จักรพรรดิเมจิ (ญี่ปุ่น: 明治天皇โรมาจิMeiji-tennō) เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ที่ 122 ตามธรรมเนียมการสืบราชสันตติวงศ์ตามประเพณี ครองราชสมบัติตั้งแต่ปี 1867 จวบจนสวรรคตในปี 1912 ทรงเป็นประมุของค์แรกของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเกิดการฟื้นฟูเมจิ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายต่อหลายครั้งของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนญี่ปุ่นจาก รัฐศักดินา ที่โดดเดี่ยวไปสู่มหาอำนาจทางอุตสาหกรรม

ในช่วงที่จักรพรรดิเมจิประสูติในปี 1852 ญี่ปุ่นเป็นประเทศศักดินาก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ปกครองโดยโชกุนและไดเมียวที่ปกครองเหนือแคว้นศักดินา 270 แห่งทั่วประเทศ[1] ในช่วงที่จักรพรรดิเมจิสวรรคตในปี 1912 ญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก

พระราชประวัติ[แก้]

วัยพระเยาว์[แก้]

จักรพรรดิเมจิเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 ในตำหนักเล็ก ๆ นอกพระราชวังหลวงเกียวโต มีพระนามว่า เจ้าชายมุตสึฮิโตะ และเมื่อแรกประสูติทรงราชทินนามเป็น เจ้าซาชิ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในจักรพรรดิโคเม (องค์แรกสิ้นพระชนม์ไปก่อน) ส่วนมารดาของพระองค์คือ โยชิโกะ จากตระกูลนากายามะ ตระกูลข้าราชบริพารในวังหลวงตระกูลหนึ่ง โยชิโกะเป็นนางสนมนางหนึ่งในบรรดานางสนมหลายสิบคนของจักรพรรดิโคเม

สี่เดือนหลังประสูติ ญี่ปุ่นได้เผชิญหน้ากับการมาถึงของ "กองเรือดำ" ในบัญชาของพลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี จากสหรัฐอเมริกา เข้ามายังอ่าวเอโดะและบังคับให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศ การเปิดประเทศนี่เองทำให้รัฐบาลโชกุนเผชิญหน้ากับฝ่ายกบฎ (ฝ่ายหัวสมัยใหม่) ทั้งสองฝ่ายต่างก็อยากได้จักรพรรดิมาเป็นพวก แต่พระราชบิดาของพระองค์เลือกที่จะวางตัวเป็นกลางขอแค่ให้พระราชวงศ์ได้อยู่รอดปลอดภัย ชีวิตที่ลำบากยากแค้นในวัยเด็กทำให้เจ้าชายมุตสึฮิโตะเป็นเด็กขี้ขลาด ในปี 1864 ฝ่ายกบฎแคว้นโชชูพยายามบุกวังหลวงจนเกิดเป็นการต่อสู้กับฝ่ายโชกุนจนเสียงปืนใหญ่ดังสนั่นทั่วทั้งวังหลวง ในขณะนั้นเจ้าชายมุตสึฮิโตะในวัย 11 ชันษาตกใจถึงกับเป็นลม การที่รัชทายาทอ่อนแอเช่นนี้ได้สร้างความวิตกต่อตระกูลนากายามะอย่างมาก ทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องฝึกฝนให้ว่าที่จักรพรรดินั้น "ร่างกายกำยำ จิตใจเหี้ยมหาญ" พวกเขาจึงให้ ไซโง ทากาโมริ ซามูไรเลื่องชื่อหัวสมัยใหม่มารับหน้าที่พระอาจารย์อบรมสั่งสอนเจ้าชายมุตสึฮิโตะ

หลังไซโงกลายมาเป็นพระอาจารย์ ไซโงได้เปลี่ยนสนามของวังหลวงเป็นลานประลอง เขาอบรมสั่งสอนเจ้าชายมุตสึฮิโตะในแบบของนักรบ ทั้งวิชาฟันดาบ, ยิงธนู, ขี่ม้า, มวยปล้ำ เจ้าชายองค์น้อยผู้บอบบางได้เติบใหญ่เป็นนักรบจากการอบรมของไซโง

ขึ้นเป็นจักรพรรดิ[แก้]

จักรพรรดิเมจิในวัย 20 พรรษา

ภายหลังพระราชบิดาได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1867 พระองค์ก็ขึ้นครองราชสมบัติในสี่วันให้หลัง หลังจากครองราชย์ได้สองเดือน ในวันที่ 7 เมษายน พระองค์ก็ทรงประกาศพระราชโองการบัญญัติห้าข้อที่ถูกร่างโดยคณะที่ปรึกษาหัวก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นพระราชโองการแรกในสมัยเมจิ ส่วนหนึ่งของพระราชโองการดังกล่าวมีดังความ: "จงค้นคว้าและรวบรวมวิทยาการทั้งหลายทั่วโลกเพื่อเสริมสร้างรากฐานการปกครองแห่งจักรพรรดิ"

การที่จักรพรรดิไม่ได้เสด็จออกนอกนครหลวงเกียวโตเลยตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1867 จนกระทั่งได้เสด็จไปยังนครโอซากะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1868 ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ต้องใช้พระวิริยอุตสาหะยาวนานเพียงใด กว่าจะล่วงพ้นวิสัยทัศน์อันคับแคบของเหล่าข้าราชการในช่วงต้นรัชสมัยไปได้

การปฏิรูปประเทศ[แก้]

เจริญรอยตามตะวันตก[แก้]

ยุวจักรพรรดิได้รับการปลูกฝังจากบุคคลกลุ่มหัวก้าวหน้า บุคคลเหล่านี้ได้ตั้งให้ถวายความรู้แก่จักรพรรดิ เช่นความทันสมัยของเยอรมนี, วัฒนธรรมฝรั่งเศส, กฎหมายเยอรมนี, การเมืองการปกครองของฝรั่งเศส, นายทุนของยุโรปและอเมริกา ผู้ใกล้ชิดพระองค์ต่างจัดหาหนังสือที่กระตุ้นความคิดแบบยุโรปวางไว้บนโต๊ะทรงงานเสมอ ด้วยเหตุนี้เองทำให้จักรพรรดิเมจิทรงตื่นตัวและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว ทรงยกเลิกธรรมเนียมโบราณคร่ำครึอย่าง โกนคิ้วย้อมฟันดำ ทรงกำหนดให้เครื่องแต่งกายชุดสูทแบบตะวันตกเป็นเครื่องแต่งกายทางการ ทรงเป็นผู้นำการรับประทานเนื้อวัวและนมวัวในญี่ปุ่น ชาวโตเกียวหันมาบริโภคเนื้อวัวอย่างจริงจัง จากวันละ 1 ตัวเป็นวันละ 20 ตัว

ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1878 พระองค์ทรงตัดพระเกษาด้วยองค์เองจนสั้นจนเป็นเรื่องที่ตื่นตะลึงไปทั้งประเทศ และยังออกพระราชโองการ "ตัดผมสั้น ปลดอาวุธ"

ย้ายเมืองหลวง[แก้]

ทรงย้ายเมืองหลวงไปโตเกียว ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา

โลกทัศน์ของพระองค์ขยับขยายอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าฤดูใบไม้ร่วงของปี 1868 หลังจากที่คณะรัฐบาลในพระองค์ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังนครเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว จักรพรรดิเมจิเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปยังนครหลวงใหม่เป็นครั้งแรก ไพร่พลในขบวนเสด็จครั้งนั้นมีจำนวนถึง 3,300 ชีวิต ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรดูผืนน้ำทะเลเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน เหตุการณ์นี้ทำให้คิโดะ ทะกะโยะชิ ที่โดยเสด็จอยู่ด้วยบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้าตื้นตันจนมีน้ำตา เมื่อตระหนักว่านี่คือจุดเริ่มต้นแห่งยุคสมัยที่เดชานุภาพจะได้แผ่ไปทั่วโลกอันไพศาล" ครั้นขบวนเสด็จถึงกรุงโตเกียวในวันที่ 5 พฤศจิกายน พสกนิกรมากมายหลายหมื่นมาเฝ้ารอรับเสด็จอยู่ทั้งสองข้างทาง เพื่อถวายความจงรักภักดี พร้อมกันนั้น พระราชยานประดับรูปไก่ฟ้าทองคำก็เคลื่อนตรงไปยังปราสาทเอโดะ อดีตที่พำนักของโชกุนที่จะใช้เป็นที่ประทับ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1869 องค์จักรพรรดิเสด็จกลับไปยังเกียวโตเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะเสด็จมาประทับที่โตกียวเป็นการถาวรในอีก 2 เดือนต่อมา

นโยบายด้านการศึกษา[แก้]

รัฐบาลเมจิให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมหาศาล ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 200 ล้านตำลึงซึ่งญี่ปุ่นได้รับมาจากสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลายยุคเมจิพบว่ามีประชาชนกว่าร้อยละ 95 ของประเทศที่ได้รับการศึกษา ไม่มีบ้านไหนไม่ได้เรียน ไม่มีคนไหนไม่ได้เรียน เนื่องจากการเรียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับตามกฎหมาย ในหลายเมืองต้องใช้ตำรวจบังคับให้เด็กไปโรงเรียนตั้งแต่ 8 นาฬิกาถึง 15 นาฬิกา หากตำรวจพบเด็กวัยเรียนอยู่นอกโรงเรียนในเวลาดังกล่าวจะถูกจับตัวส่งโรงเรียนทันที

การเมืองการปกครองตอนต้นรัชกาล[แก้]

เหตุผลหลักที่ผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกูโบะ โทชิมิจิ และไซโง ทากาโมริ แห่งแคว้นซัตสึมะ ได้กราบทูลเชิญจักรพรรดิเมจิไปยังโตเกียว ก็เพื่อผลักดันให้สมเด็จพระจักรพรรดิพระประมุขเป็นอิสระจากแนวคิดและลักษณะอนุรักษนิยมของชาวเกียวโต ค.ศ. 1871 ไซโกได้ทูลเกล้าฯ ถวายเสนอแผนปฏิรูปโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • อันดับแรก เพื่อลดจำนวนนางกำนัล เขาชี้แจงว่านับแต่อดีตมาจนบัดนั้น พวกนางมักจะมีอิทธิพลครอบงำวังหลวงมากเกินไป
  • อันดับที่สอง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหารตั้งแต่ชั้นนักรบสามัญหรือซามูไรขึ้นไป และผู้ที่สืบเชื้อสาย หรือสืบความรู้ทางการปกครอง ได้เข้าทำงานและรับพระราชทานตำแหน่งสูง ๆ ตามความเหมาะสมภายในวังหลวงได้

อิทธิพลการศึกษาแบบอนุรักษนิยมส่งผลให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงคัดค้านแผนปฏิรูปเหล่านี้ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเป็นพระราชโองการได้ใน ค.ศ. 1872 ไม่ช้า สมเด็จพระจักรพรรดิก็สนิทสนมกับไซโงเป็นพิเศษ ไซโงสนับสนุนให้พระองค์ทรงม้าเพื่ออกกำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่พระวรกาย และส่งเสริมให้มีความสนพระทัยในการทหารในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพ จักรพรรดิเมจิโปรดการออกตรวจกำลังพล ที่ส่วนใหญ่มาจากแคว้นโชชูและซัตสึมะ เรียกว่า โกชิมเป (ทหารราชองครักษ์) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1871

ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสยาม[แก้]

รัชสมัยของพระองค์ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยาม ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะสืบทอดความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและจักรวรรดิญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีและลงพระนามในสนธิสัญญากับผู้แทนพระองค์ของจักรพรรดิเมจิที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1887[2] เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ในเวลาต่อมาหลังจากพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายอากิฮิโตะ โคมัตสึโนะมิยะและคณะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิระหว่างทางเสด็จกลับจากสหราชอาณาจักร[3]ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและประทับที่วังสราญรมย์ ในการนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าชายโคมัตสึโนะมิยะนำพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของญี่ปุ่นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยาภาสกรวงศ์ ที่ปรึกษาราชการในพระองค์ที่ไว้วางพระราชหฤทัยนำพระราชสาส์นตอบและเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของสยามในสมัยนั้น (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของไทยในปัจจุบันสถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระจักรพรรดิ[5]

สงครามกับจีน[แก้]

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 1894 จักรพรรดิเมจิทรงบัญชาให้กองทัพญี่ปุ่นใช้วิธีการแบบโจรสลัดในการโจมตีกองเรือเป่ยหยางของจีนที่ลอยลำอยู่ในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกแถลงการณ์ว่า "...จีนได้ส่งกองทัพใหญ่มายังคาบสมุทรเกาหลีเพื่อหมายจะโจมตีเรือรบญี่ปุ่น..."[6] และจักรพรรดิเมจิทรงประกาศสงครามกับจักรวรรดิชิง พระองค์โปรดให้ย้ายฐานทัพหลักมาอยู่ที่เมืองฮิโระชิมะ จักรพรรดิวัย 42 ปีทรงบัญชาการรบด้วยองค์เองตลอด 225 วัน[6] ทรงสนพระทัยสถานการณ์ศึกตลอดเวลาถึงขนาดมีรับสั่งไว้ว่าให้ปลุกพระองค์ได้ทุกเมื่อหากมีความคืบหน้า และยังทรงห้ามมิให้เหล่าข้าหลวงนางในมาปรนนิบัติพระองค์ที่ค่ายทหาร[6] ทรงเรียนรู้การใช้ผ้าขนหนูถูหลังด้วยองค์เอง การกระทำเหล่านี้สร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารญี่ปุ่นเป็นอันมาก

พระบรมวงศ์[แก้]

พระอัครมเหสีและพระสนม[แก้]

จักรพรรดินีโชเก็ง

จักรพรรดิเมจิอภิเษกสมรสกับท่านหญิงฮารูโกะ อิจิโจ ซึ่งต่อมาเมื่อสวรรคตได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวง แต่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาด้วยกัน เนื่องจากพระพลานามัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีไม่เอื้ออำนวย แต่มีพระราชโอรส-ธิดาทั้งสิ้น 15 พระองค์ โดยประสูติจากพระสนมทั้งหมด โดยมีรายนาม พระมเหสี และพระสนม ดังนี้

  • พระอัครมเหสี
  • พระสนม
    • พระสนมมิตสึโกะ (1853-1873)
    • พระสนมนัตสึโกะ ฮาชิโมโตะ (1856–1873)
    • พระสนมนารุโกะ ยานางิวาระ (1855–1943)
    • พระสนมโคโตโกะ ชิงุซะ (1855–1944)
    • พระสนมซาชิโกะ โซโนะ (1867–1947)

พระราชโอรสและธิดา[แก้]

ภาพราชวงศ์ญี่ปุ่นในสมัยเมจิ

แม้ว่าจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็งจะไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาด้วยกัน แต่ก็มีพระราชโอรส-ธิดาประสูติจากพระสนม ทั้งสิ้น 15 พระองค์ คือ

  1. เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) ประสูติ 18 กันยายน ค.ศ. 1873 และสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน ประสูติแด่พระสนมมิตสึโกะ
  2. เจ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) ประสูติ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 และสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน ประสูติแด่พระสนมนัตสึโกะ
  3. เจ้าหญิงชิเงโกะ เจ้าอูเมะ ประสูติ 25 มกราคม ค.ศ. 1879 ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
  4. เจ้าชายโยชิฮิโตะ เจ้าฮารุ ประสูติ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1879 (ต่อมาคือจักรพรรดิไทโช) ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
  5. เจ้าชายยูกิฮิโตะ เจ้าทาเกะ ประสูติ 23 กันยายน ค.ศ. 1880 ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
  6. เจ้าหญิงอากิโกะ เจ้าชิเงะ ประสูติ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1884 ประสูติแด่ พระสนมโคโตะโกะ
  7. เจ้าหญิงฟูมิโกะ เจ้ามาซุ ประสูติ 26 มกราคม ค.ศ. 1886 ประสูติแด่พระสนมโคโตะโกะ
  8. เจ้าหญิงชิซูโกะ เจ้าฮิซะ ประสูติ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  9. เจ้าชายมิชิฮิโตะ เจ้าอากิ ประสูติ ค.ศ. 1890 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  10. เจ้าหญิงมาซาโกะ เจ้าทาซูเนะ ประสูติ 30 กันยายน ค.ศ. 1891 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  11. เจ้าหญิงฟูซาโกะ เจ้าคาเนะ ประสูติ 28 มกราคม ค.ศ. 1893 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  12. เจ้าหญิงโนบูโกะ เจ้าฟูมิ ประสูติ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1894 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  13. เจ้าชายเทรูฮิโตะ เจ้ามิซุ ประสูติ ค.ศ. 1896 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  14. เจ้าหญิงโทชิโกะ เจ้ายาซุ ประสูติ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
  15. เจ้าหญิงทากิโกะ เจ้าซาดะ ประสูติ ค.ศ. 1900 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ

ประชวรและเสด็จสวรรคต[แก้]

ในช่วงปลายรัชกาล พระจักรพรรดิทรงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับโรคเบาหวาน และโรคไบร์ท (โรคไตอย่างหนึ่ง) ที่พระอาการมีแต่ทรุดลง จนในรัฐพิธีหลายวาระ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงอ่อนเพลียอย่างหนักให้ผู้คนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในปีที่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนฤดูร้อนปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) นั้น ก็ยังไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่าจะเสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น

เดือนมกราคมปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) พระจักรพรรดิเสด็จร่วมงานประกวดกวีนิพนธ์ในวันปีใหม่ที่จัดขึ้นในพระราชวังเป็นประจำอย่างเช่นทุกปีเช่นที่เคยทรงปฏิบัติมา

เดือนกุมภาพันธ์ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระประชวร แต่ไม่นานพระอาการก็ดีขึ้น สามารถทรงงานตามหมายงานที่กำหนดได้ตามปรกติเป็นต้นว่า

  • วันที่ 30 พฤษภาคม เสด็จไปร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนเตรียมทหารในสังกัดกองทัพบก ทรงตรวจแถวนักเรียนที่เพิ่งจบ และพระราชทานปริญญาบัตร
  • วันที่ 28 มิถุนายน เสด็จออกต้อนรับนายชาร์ล วิลเลี่ยม เอลเลียต อดีตอธิการบดีประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างประเทศมาร่วมด้วย
  • แต่ในวันที่ 10 กรกฎาคม ขณะเสด็จไปยังมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรในพิธีสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระจักรพรรดิทรงรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง และทรงพระดำเนินขึ้นบันไดได้อย่างยากเย็น ซึ่ง 5 วันต่อมาขณะกำลังจะประทับในที่ประชุมสภาองคมนตรี พระวรกายเกิดอาการสั่นอย่างแรง ระหว่างการประชุมก็ทรงเผลอหลับไปกับที่ประทับ สีพระพักตร์บอกได้ว่าเพลียหนักอย่างชัดเจน

วันที่ 19 เดือนเดียวกัน ได้เสด็จไปประทับที่โต๊ะทรงพระอักษร แต่ทรงเหนื่อยเกินกว่าจะทรงงานใด ๆ ได้ และขณะกำลังจะประทับยืนขึ้นนั่นเอง ทรงล้มลง บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียวแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิถูกเรียกตัวมาช่วยคณะแพทย์หลวงถวายการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินแถลงข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบในทันที

ระยะเวลาหลายวันต่อจากนั้น หนังสือพิมพ์ต่างพากันรายงานถึงพระอาการอย่างละเอียด ทั้งพระอัตราชีพจรที่อ่อนลงเรื่อย ๆ และการทำงานเสื่อมทรุดลงของอวัยวะต่าง ๆ ประชาชนต่างสวดอธิษฐานให้สมเด็จพระจักรพรรดิหายประชวร มหาชนมารวมตัวกันอยู่รายรอบพระราชวัง หลายคนคุกเข่าหรือหมอบกราบอยู่กับพื้น

ท้ายที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย เมื่อเวลา 0.43 นาฬิกา ของวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) พระชนมายุได้ 60 พรรษา ณ พระราชวังโตเกียว

ภายหลังการสวรรคต[แก้]

ขบวนพระบรมศพ

ชาติทั้งชาติจมหายไปในความรู้สึกสูญเสียที่ท่วมท้น นักเขียนนวนิยายโทคุมิ โรกะ บรรยายไว้ว่า

การสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิได้ปิดบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชสมัยเมจิลงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับว่าแม้ชีวิตของตัวเองก็ถูกปลิดหลุดจากขั้ว

ยะมะงะตะเองก็สะเทือนใจ จนถ่ายทอดออกมาในบทกวีว่า

แสงฟ้า วันนี้ ดับลงแล้ว ปล่อยให้โลก มิดมืด

คืนวันที่ 13 กันยายน ประชาชนต่างยืนเบียดเสียดกันรอรับขบวนเสด็จอย่างเงียบ ๆ ขณะที่หีบบรรจุพระบรมศพบนพระราชยานเทียมโคเคลื่อนผ่านเสียงเดียวที่ได้ยินคือเสียงกงล้อบดเบา ๆ ไปบนพื้นทรายกับเสียงเอียดอาดของเพลารถ พอขบวนแห่เคลื่อนไปถึงศาลาพระราชพิธีที่สร้างขึ้นบนลานสวนสนามโอะยะมะที่เตรียมไว้สำหรับวาระนี้โดยเฉพาะ โดยมีจักรพรรดิไทโช จักรพรรดิพระองค์ใหม่ มีพระราชดำรัสสรรเสริญจักรพรรดิเมจิ เจ้าชายไซองจิ นายกรัฐมนตรี และวะตะนะเบะ ชิอะกิ สมุหราชมนเทียร ก็ได้กล่าวคำสรรเสริญแด่จักรพรรดิเมจิด้วยเช่นกัน

วันที่ 15 กันยายน ได้อัญเชิญพระบรมศพจากกรุงโตเกียว ไปสู่นครเกียวโตโดยทางรถไฟเพื่อประกอบพิธีฝังพระบรมศพไว้ที่สุสานหลวงโมะโมะยะมะ เขตฟุจิมิ เหตุการณ์เดียวที่ทำให้ช่วงเวลาที่คนทั้งชาติกำลังโศกเศร้าและไว้ทุกข์ต้องสะดุดไปคือข่าว นายพลโนงิ หนึ่งในวีรบุรุษจากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น พร้อมด้วยภริยา กระทำพิธีอัตวินิบาตกรรมภายในบ้านพักของตัวเองเมื่อวันที่ 13 กันยายน

สำหรับชาวญี่ปุ่นหลายคน การตายของนายพลโนงิ กระตุ้นให้พวกเขาหวนรำลึกถึงประเพณีปฏิบัติของซามูไรในยุคกลางที่จะตามเจ้านายของตนไปยมโลกด้วยความจงรักภักดี แต่สำหรับคนอื่น ๆ การตายของโมงิกลับเป็นเรื่องหลงยุคหลงสมัย และขัดกับเจตนารมณ์ที่ต้องการพาญี่ปุ่นเข้าสู่การเป็นสมัยใหม่ที่จักรพรรดิเมจิทรงเป็นสัญลักษณ์

ในฐานะที่ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชน และมีพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ให้ชมพระบารมีแทนสมเด็จพระบรมสาทิสลักษณ์เช่นในสมัยก่อน ต้องนับว่าจักรพรรดิเมจิมีพระบุคลิกภาพที่เด็ดขาด เปี่ยมด้วยพระราชอำนาจยิ่ง โดยรวมแล้ว พระราชจริยวัตรที่งามสง่าของจักรพรรดิเมจิ ส่งให้ทรงเป็นจักรพรรดิของญี่ปุ่นยุคใหม่เพียงพระองค์เดียวที่เรียกได้ว่าทรงพระบรมเดชานุภาพ อย่างแท้จริง

ในปี ค.ศ. 1913 รัฐสภาได้ตัดสินใจสร้างศาลเจ้าเมจิขึ้นที่เขตโยโยงิ กรุงโตเกียว เพื่ออุทิศถวายแด่ดวงพระวิญญาณ เป็นการประโลมจิตใตและบรรเทากระแสจงรักภักดีแบบสุดโต่งของประชาชาชนลงบ้าง ก่อนที่พระอารามจะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1920 หนุ่มสาวหลายพันคนอาสาเข้าช่วยก่อสร้างพระอาราม และปลูกต้นไม้ที่นำมาจากทุกภาคของประเทศให้เต็มพื้นที่สวนอันกว้างขวางโดยรอบ ความเทิดทูนบูชาในสมัยจักรพรรดิเมจิของพวกเขายังคงมีสูง โดยมีรายงานว่า หญิงสาวบางคนแสดงความประสงค์ที่จะถูกฝังทั้งเป็นใต้พระอารามก่อนสร้างเสร็จ โชคดีที่มีคนเกลี้ยกล่อมให้หญิงสาวเหล่านั้นตัดปอยผมของตนถวายแทน

พระอิสริยยศ[แก้]

  • 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1860: เจ้าซาชิ
  • 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1860 – 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867: มกุฎราชกุมาร
  • 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 – 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912: สมเด็จพระจักรพรรดิ
  • ภายหลังสวรรคต: จักรพรรดิเมจิ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Keene 2002, p. 200.
  2. "หนังสือแรติฟิเคชันแห่งหนังสือประกาศทางพระราชไมตรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 6 มกราคม 1888. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019. ...หนังสือปฏิญญาณฉบับหนึ่ง ว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขาย ในระหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น ได้ทำตกลงกันที่กรุงโตกิโย ณวัน ๒ เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือน ๙ ศักราชไมชี ๒๐ ปี แลตรงกับวันที่ ๒๖ เซบเตมเบอคฤสตศักราช ๑๘๘๗...ฝ่ายสมเดจพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ...
  3. "ข่าวเจ้ายี่ปุ่นจะเข้ามากรุงเทพฯ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 7 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019. ...กำหนดเจ้ายี่ปุ่นชื่อปรินสกุมัสสุซึ่งเปนผู้แทนสมเดจพระเจ้าเอมเปอเรอยี่ปุ่น ไปในการเฉลิมศิริราชสมบัติสมเดจพระนางเจ้าราชินีกรุงอังกฤษ จะกลับจากกรุงอังกฤษมาถึงเมืองสิงคโปร์...พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดวังสราญรมย์สำหรับเปนที่พัก...
  4. "เจ้ายี่ปุ่นเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 7 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019. ...แล้วปรินส์ อากิหิโต โกมัตสุ ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาสน ของสมเดจพระเจ้ามุสุหิโต มิคาโด ราชาธิราชประเทศยี่ปุ่น เจริญทางพระราชไมตรี แลถวายเครื่องราชอิสริยยศยี่ปุ่นอย่างสูงชื่อไครเสนถิมัม...
  5. "สำเนาพระราชสาสนไปเมืองยี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019. ...ด้วยในการที่เราได้ทรงมอบให้ที่ปฤกษาราชการอันเปนที่รัก แลไว้วางพระราชหฤไทยของเรา พระยาภาสกรวงศ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จางวางมหาดเล็ก ที่ปฤกษาราชการในพระองค์ เลฟเตอแนนตคอลอแนลตำแหน่งวิเสศ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์...ได้ให้เรามีโอกาศอันเปนที่ยินดีเหมือนกัน ที่จะได้ทรงตั้งพระองคด้วยเครื่องขัตติยราชอิศริยยศ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งตรามหาจักรกรี บรมราชวงษของเรา เพื่อเปนที่หมายอย่างสูงสุดแห่งทางพระราชไมตรีแลความนับถึออย่างยิ่ง...
  6. 6.0 6.1 6.2 หวังหลง (2559) ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา. สำนักพิมพ์มติชน. ISBN 9789740214564
  7. "พระราชสาสนไปญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 4 (37): 296. 30 ธันวาคม 2430. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  • Sidney Devere Brown and Akiko Hirota, 'The Diary of Kido Takayoshi', 3 vois., Tokyo: University of Tokyo Press, 1983-86
  • Herschel Webb, 'The Japanese Imperial Institution in the Tokugawa Period', New York: Columbia University Press, 1968
ก่อนหน้า จักรพรรดิเมจิ ถัดไป
จักรพรรดิโคเม
จักรพรรดิญี่ปุ่น
(พ.ศ. 2410 - พ.ศ. 2455)
จักรพรรดิไทโช