วัลลภ สุระกำพลธร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัลลภ สุระกำพลธรท

เกิดพ.ศ. 2497 (อายุ 70 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย ไทย
อาชีพนักวิจัย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2516 - ปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ วัลลภ สุระกำพลธร (ราชบัณฑิต) เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักวิจัยชาวไทยที่มีผลงานดีเด่นในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกับงานวิจัยและการออกแบบระบบวงจรที่เหมาะสมกับการทำเป็นวงจรรวม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ประจำภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับการประกาศยกย่องให้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2539 สาขาฟิสิกส์เชิงคณิตศาสตร์ รางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2541 สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2547 ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2563 และได้รับการแต่งตั้งเป็น ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ในปี พ.ศ. 2564

ประวัติการศึกษา[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย และโรงเรียนสายน้ำทิพย์ เข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนดุสิตพาณิชยการ แผนกสามัญ และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนปทุมคงคา หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ซึ่งปัจจุบันคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนจบการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาโทรคมนาคม ในปี พ.ศ. 2516 ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาไฟฟ้าสื่อสาร ในปี พ.ศ. 2518 และปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2521 ในปี พ.ศ. 2524 ได้รับทุนการศึกษา Oversea Research Student Fee Support Scheme จากประเทศสหราชอาณาจักร และทุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ the University of Kent at Canterbury ประเทศสหราชอาณาจักร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Ph.D.) ด้าน Electronics ในปี พ.ศ. 2527

ประวัติการทำงาน[แก้]

ตำแหน่งทางวิชาการ[แก้]

  • อาจารย์ ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2521 – 2529
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2529 – 2532
  • รองศาสตราจารย์ ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2532 – 2536
  • ศาสตราจารย์ ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2536 – 2542
  • ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน

ตำแหน่งบริหาร[แก้]

  • ผู้ช่วยคณบดีด้านบัณฑิตศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2528 – 2529
  • รองคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2530 – 2534
  • รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2537 – 2541
  • นายกสมาคมวิชาการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และสารสนเทศ (ECTI) พ.ศ. 2549 – 2553
  • ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2555 - 2559
  • ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2564 - 2566

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ[แก้]

เกียรติคุณและรางวัล[แก้]

  • รางวัล นักวิจัยดีเด่น ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. 2531
  • รางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2539 ทางด้านฟิสิกส์เชิงคณิตศาสตร์ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ทุนและรางวัลส่งเสริมวิชาชีพนักวิจัย ประเภททุนนักวิจัยอาวุโส จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พ.ศ. 2538 - 2539
  • EDN Asia Innovator Award, EDN Asia, Cahers Asia, a Division of Reed Elsevier Ltd., 1997.
  • รางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2541 สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  • รางวัล เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2543 - 2546 และ พ.ศ. 2546 - 2549
  • รางวัล อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547
  • นักเรียนเก่าดีเด่น สมาคมนักเรียนเก่าปทุมคงคา พ.ศ. 2547
  • เป็นสมาชิกอาวุโส (life senior member) ของ สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers, IEEE) ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
  • ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พ.ศ. 2552
  • ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ประจำปี 2552 สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ผลงานวิจัย[แก้]

ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ได้อุทิศตนให้กับงานวิจัยทางด้านการออกแบบวงจรรวม (Integrated Circuit Design) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบระบบประมวลผลสัญญาณที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีวงจรรวม ได้คิดค้นเสนอหลักการเพื่อออกแบบวงจรรวมแบบโหมดกระแส (Current-Mode Integrated Circuit) ไว้หลายวงจร อาทิเช่น วงจรสายพานกระแส (Current Conveyor) และ วงจรความต้านทานบวกและความต้านทานลบ (Positive and Negative Resistance Circuits) ทั้งเป็นแบบที่สามารถสร้างด้วยไบโพลาร์เทคโนโลยีและมอสเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะการนำเสนอ วงจรสายพานกระแสปรับค่าขยายด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronically Tunable Current Conveyor : ECCII) ซึ่งวงจรดังกล่าวนี้มีประโยชน์ประยุกต์ใช้ในการออกแบบระบบวงจรที่ต้องการปรับคุณสมบัติของวงจรไปโดยอัตโนมัติ หลักการออกแบบวงจรที่ ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร นำเสนอไว้ได้มีนักวิจัยนำไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง

การวิจัยและคิดค้นเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในเชิงความเป็นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลสัญญาณ และทั้งเชิงวิจัยประยุกต์นำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ของการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือวัดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการติดตามให้เท่าทันกับการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างกลุ่มบุคลากรวิจัยทางด้านการออกแบบวงจรรวมในประเทศไทยด้วย ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร มีผลงานที่ปรากฏทั้งระดับในประเทศและนานาชาติจำนวนมาก ผลงานทางด้านวิชาการประกอบด้วย มีผลงานเขียนตำรา 4 เล่ม บทความวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติรวมมากกว่า 70 บทความ และผลงานวิชาการที่นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติต่างประเทศมากกว่า 90 บทความ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๔, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๒๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2017-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑๕๔, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]